7 วิธีรับมือเมื่อลูกน้อยเกิดอาการผิวไหม้แดด
การทำกิจกรรมกลางแจ้ง ถือเป็นสิ่งที่ลูกๆ โปรดปรานอย่างมาก แต่นั่นก็ทำให้พ่อแม่เกิดความกังวลใจในหลายๆ เรื่อง ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่ทำให้พ่อแม่เป็นกังวลเมื่อลูกทำกิจกรรมกลางแจ้งก็คือ เกิดอาการผิวไหม้แดดนั่นเอง วันนี้เราจึงรวม 7 วิธีรับมือเมื่อลูกน้อยเกิดอาการผิวไหม้แดดมาแชร์ให้พ่อแม่ได้ทราบกันค่ะ
1.ประคบเย็น
เริ่มจากการประคบเย็น ซึ่งถือเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย และสามารถหาอุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่ายด้วย สำหรับการประคบเย็นให้คุณแม่ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น จากนั้นเอาไปประคบผิวบริเวณที่ไหม้แดด จะช่วยลดอาการแสบร้อนผิวได้ดีมากๆ
2.อาบน้ำเย็น
การอาบน้ำเย็นถือเป็นวิธีที่ช่วยลดความร้อนบนผิวที่เกิดจากอาการไหม้แดดได้เช่นกัน แต่แนะนำว่า หลังจากที่ลูกอาบน้ำด้วยน้ำเย็นแล้ว ให้ต่อด้วยการประคบเย็นอีกครั้ง จะช่วยให้อาการไหม้แดดดีขึ้น
3.แช่น้ำเย็น
การแช่น้ำเย็น จะช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดจากการไหม้แดดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดแสบได้อีกด้วย นอกจากนี้แนะนำให้ลูกหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระที่มีสารคลอรีนไปก่อน เพราะนั่นอาจทำให้ผิวไหม้แดดของลูกเกิดการระคายเคืองได้
4.ให้ลูกดื่มน้ำให้มากๆ
การดื่มน้ำให้มากๆ หรือให้ลูกจิบน้ำบ่อยๆ จะช่วยลดอาการผิวไหม้แดดได้ และยังเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้น พร้อมทั้งฟื้นฟูผิวได้ดี ในแต่ละวันควรให้ลูกดื่มน้ำให้ได้ประมาณ 8 แก้วต่อวัน จะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูสภาพผิวได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญควรให้ลูกงดดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำที่มีส่วนผสมของโซดาไปก่อน เพราะจะทำให้ร่างกายของลูกสูญเสียน้ำได้
5.ทาเจลว่านหางจระเข้
การใช้เจลว่านหางจระเข้ทาบนผิวไหม้แดด จะช่วยลดการอักเสบบนผิวได้ ที่สำคัญว่านหางจระเข้ยังเป็นสมุนไพรที่ช่วยทำให้ผิวรู้สึกเย็น ซึ่งเหมาะสำหรับการรักษาผิวไหม้แดดที่มักมีอาการแสบร้อนอย่างดี
6.ทาครีมบำรุง
สำหรับครีมบำรุงที่จะทาผิวไหม้แดด แนะนำให้เลือกที่มีค่า pH 5.5 จะช่วยฟื้นฟูผิวไหม้แดดของลูกได้ดี และยังช่วยรักษาสมดุลในชั้นผิวหนังได้อีกด้วย ที่สำคัญควรทาครีมบำรุงผิวสูตรอ่อนโยนบนผิวลูกเสมอ จะเป็นการกักเก็บน้ำใต้ชั้นผิว พร้อมทั้งช่วยเสริมวิตามินให้ผิวลูกแข็งแรงยิ่งขึ้น
7.สวมเสื้อผ้าหลวมๆ ให้ลูก
ในช่วงที่ลูกมีอาการผิวไหม้แดด พ่อแม่จะต้องเตรียมเสื้อผ้าหลวมๆ ให้ลูกใส่ ห้ามใส่เสื้อที่รัดผิวลูกเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ ทั้งนี้การให้ลูกได้สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ จะทำให้ผิวหนังสามารถฟื้นฟูผิวได้อย่างเต็มที่
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกน้อยมีอาการผิวไหม้แดด ลองเอา 7 วิธีเหล่านี้ไปลองใช้กันดูนะคะ เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนจากอาการไหม้แดดได้เป็นอย่างดี
อ้างอิงเนื้อหาจาก https://www.sanook.com/women/195753/
6 สารอาหารที่คุณแม่หลังคลอดควรทาน ดีต่อสุขภาพ ทำน้ำหนักลงไว
รายละเอียดสินค้าเชื่อว่าคุณแม่หลังคลอดหลายท่านมีความกังวลกับปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมสารอาหาร 6 ชนิดที่มีส่วนช่วยให้น้ำหนักของคุณแม่หลังคลอดลดลงได้อย่างปลอดภัยมาบอกกันค่ะ มาดูกันค่ะว่าสารอาหารชนิดใดบ้างที่คุณแม่ไม่ควรพลาด
1.ธาตุเหล็ก
หลังคลอด หากร่างกายของคุณแม่มีสารอาหารอย่างธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาเลือดจาง เหนื่อย อ่อนเพลีย และมีอาการซีดได้ ดังนั้นจึงถือว่าธาตุเหล็กคือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของคุณแม่หลังคลอดอย่างมาก โดยอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ ข้าวโอ๊ต เต้าหู้ และถั่วแดง หากคุณแม่กินธาตุเหล็กควบคู่กับวิตามินซี จะยิ่งช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ดีมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญหากร่างกายขาดธาตุเหล็ก จะส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญในร่างกายได้
2.แคลเซียม
แคลเซียมคือสารอาหารที่หากร่างกายมีไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดปัญหากระดูกพรุน กร่อน ผุ และแตกหักง่าย หากคุณแม่กินอาหารที่มีแคลเซียมควบคู่กับวิตามินดี จะยิ่งดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างมาก สำหรับอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมที่แนะนำให้กินได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม นม โยเกิร์ต และปลาตัวเล็ก ในกรณีที่ร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาต่อกระดูกแล้ว ยังทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันที่สะสมได้ดีพอ
3.วิตามินดี
วิตามินดีคือสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญได้ดีมากๆ อีกทั้งยังเป็นสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีอีกด้วย ในส่วนของอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดีได้แก่ ถั่วชนิดต่างๆ และปลาแซลมอน นอกจากนี้วิตามินดียังสามารถเกิดขึ้นได้จากแสงแดดในยามเช้า ดังนั้นหากคุณแม่ออกมารับแดดในตอนเช้า ก็จะช่วยให้ร่างกายได้สัมผัสกับวิตามินดีไปด้วย
4.กรดโฟลิก
กรดโฟลิกเป็นสารอาหารที่คุณแม่หลังคลอด โดยเฉพาะคุณแม่ที่ให้นมลูกควรกินให้ได้ประมาณ 280 ไมโครกรัมในช่วง 6 เดือนแรก และควรกินให้ได้ประมาณ 260 ไมโครกรัมในช่วง 6 เดือนหลัง ในส่วนของกรดโฟลิกจะอุดมอยู่ในอาหารจำพวกแครอท แคนตาลูป ฟักทอง ผักใบเขียว ตับ และไข่แดง
5.ไอโอดีน
ไอโอดีนคือสารอาหารที่ร่างกายของคุณแม่หลังคลอดขาดไม่ได้เลย เพราะอาจทำให้เป็นโรคไฮโปไทรอยด์ หรือโรคคอพอก สำหรับอาหารที่อุดมด้วยไอโอดีนได้แก่เกลือทะเล อาหารทะเล ผักใบเขียว ผักคะน้า และเกลือที่มีการเติมสารไอโอดีน เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารชนิดนี้ได้อย่างเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดความสมดุล ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
6.วิตามินบี12
วิตามินบี12 เป็นสารอาหารที่มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งหากร่างกายของคุณแม่หลังคลอดขาดวิตามินบี12 ไป ก็ส่งผลให้เกิดความเครียด กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นอ่อนลง รวมถึงมีอาการชาตามปลายมือและปลายเท้า สำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี12 ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ และอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน
สารอาหาร 6 ชนิดนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ระบบเผาผลาญของคุณแม่หลังคลอดทำงานได้อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ห่างไกลจากภาวะอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้อีกด้วย
อ้างอิงเนื้อหาจาก https://www.sanook.com/women/195921/
5 วิธีดูแลแผลหลังคลอดให้ปลอดภัยหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว
หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว คุณแม่หลังคลอดจะต้องดูแลแผลให้ดี ไม่ว่าแผลหลังคลอดจะเป็นแผลคลอดเองตามธรรมชาติหรือเป็นแผลผ่าตัดก็ตาม วันนี้เราจึงรวบรวม 5 วิธีการดูแลแผลหลังคลอดด้วยตัวเอง หลังจากที่คุณแม่ออกจากโรงพยาบาลแล้วมาบอกให้ได้ทราบกันค่ะ
1.ซับแผลเบาๆ ให้แห้ง
สำหรับคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติ จะมีแผลฝีเย็บ ซึ่งการดูแลแผลฝีเย็บทำได้ด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่ตามปกติ แต่จะต้องให้ความสำคัญตรงที่การซับแผลเบาๆ และให้แห้ง ทั้งนี้ไม่แนะนำให้คุณแม่อาบน้ำคลอง หรือลงสระว่ายน้ำ รวมทั้งการอาบน้ำด้วยฝักบัวก็ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากการเอาฝักบัวฉีดใส่บริเวณที่เป็นแผลฝีเย็บ มีโอกาสที่จะทำให้แผลแยกได้สูงมาก
2.ห้ามเกา แคะ หรือแกะแผล
ในกรณีที่คุณแม่ผ่าคลอด บริเวณแผลผ่าตัดจะมีรอยคราบพลาสเตอร์หลงเหลืออยู่ บางครั้งอาจมีเป็นสะเก็ดแผล ซึ่งจะทำให้เกิดอาการคัน ทั้งนี้ห้ามคุณแม่เกา แคะ หรือแกะแผลเด็ดขาด เพราะหากเผลอไปเกา แคะ หรือแกะแผล โอกาสที่จะทำให้แผลผ่าตัดแยกและติดเชื้อได้ง่าย หากมีอาการคัน หรือมีรอยพลาสเตอร์หลงเหลืออยู่ แนะนำให้ใช้วิธีการทำความสะอาด โดยเช็ดบริเวณดังกล่าวแต่เพียงเบาๆ
3.ห้ามแกะพลาสเตอร์ปิดแผลด้วยตัวเอง
ตรงบริเวณหน้าท้องของคุณแม่ผ่าคลอด จะมีพลาสเตอร์ปิดแผลเอาไว้ ซึ่งคุณแม่ห้ามแกะพลาสเตอร์ปิดแผลด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะการแกะพลาสเตอร์ปิดแผลจะเป็นหน้าที่ของคุณหมอ หากคุณแม่แกะพลาสเตอร์เอง อาจทำให้แผลสัมผัสกับสิ่งสกปรกต่างๆ และติดเชื้อได้ แต่ในกรณีที่มีเลือดออกเยอะ และยังไม่ถึงเวลาแกะพลาสเตอร์ คุณแม่สามารถรีบไปพบคุณหมอก่อนถึงวันนัดได้ทันที
4.ห้ามสวนล้างช่องคลอด
แน่นอนว่าหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาออกมา ซึ่งคุณแม่ไม่จำเป็นที่จะต้องสวนล้างช่องคลอด ทั้งนี้คุณแม่สามารถทำความสะอาดแค่บริเวณภายนอกก็เพียงพอแล้ว หากเป็นกังวลในเรื่องของน้ำคาวปลาที่ออกมาเยอะ ก็สามารถเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ได้ รวมทั้งการล้างทำความสะอาดหลังการขับถ่าย จะต้องล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง และซับให้แห้งเสมอ
5.ห้ามยกของหนัก
คุณแม่หลังคลอดไม่ควรทำงานบ้านหรือยกของหนักๆ เด็ดขาด เพราะการยกของหนัก มีโอกาสที่จะทำให้ตกเลือดหลังคลอดสูงมาก อีกทั้งยังทำให้มดลูกเข้าอู่ได้ช้าอีกด้วย นอกจากนี้คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติไม่ควรนั่งยองหรือนั่งขัดสมาธิ เพราะหลังคลอดใหม่ๆ แผลยังติดไม่ดี หากเผลอนั่งในท่าดังกล่าว อาจทำให้แผลปริหรือแผลแยกได้
กลับมาดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน คุณแม่อย่าลืมดูแลแผลหลังคลอดให้ดีด้วยนะคะ ซึ่ง 5 วิธีที่เราได้กล่าวไปข้างต้นนั้น จะช่วยให้คุณแม่สามารถดูแลแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ช่วยให้แผลหลังคลอดหายเร็วขึ้นอีกด้วย
อ้างอิงเนื้อหาจาก https://www.sanook.com/women/194289/
04.